วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

-สวรรค์ นรก กรรม เทวดา พรหม มีจริงหรือ ?

สวรรค์  นรก กรรม เทวดา  พรหม มีจริงหรือ ?
**พระไตรปิฎก**

      ถึงแม้ว่าประชาชน ชาวไทยจะนับถือพุทธศาสนามากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ตาม แต่ปัญหาขัดแย้งทางวิชาการปรากฏว่ามีอยู่เสมอในระหว่างพุทธศาสนิกชนกลุ่ม ต่างๆ แม้ภิกษุผู้ทำการบรรยายธรรมถ่ายทอดไปสู่ประชาชนก็สอนไม่ตรงกัน ตัวอย่าง เช่น กลุ่มหนึ่งกล่าวว่า มีนรก มีสวรรค์ มีเทวดา มีพรหม อีกกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า ไม่มีนรก สวรรค์ เทวดา พรหม พวกที่เชื่อว่ามีนรก สวรรค์ เทดา พรหม เป็นพวกไม่มีเหตุผล เหลวไหล งมงาย หรือพวกหนึ่งกล่าวว่านิพพานสูญ อีกพวกหนึ่งกล่าวว่านิพพานไม่สูญ ดังนี้ เป็นต้น


    
ข้อบกพร่องของ “นักปราชญ์” สมัยปัจจุบันอย่างหนึ่ง คือ ไม่เข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนแล้วคิดว่าเข้าใจ พยายามเอามาอธิบายกันตื้น ๆ ง่าย ๆ ผู้บรรยายธรรมจำนวนมากได้แต่อ่านตำราโดยไม่ปฏิบัติ เมื่อไม่ปฏิบัติก็ไม่เกิดความเข้าใจที่แท้จริง ได้แต่เกิดความเข้าใจโดยใช้เหตุผลสามัญที่ตนตรึกตรอง ข้อนี้เป็นจุดอ่อนของ “นักปราชญ์” และนึกศึกษาธรรมสมัยปัจจุบัน ที่พยายามจะใช้เหตุผลธรรมดาที่คนทั่วไปตรึกตรองได้เข้ามาใช้กับธรรมที่พระ พุทธเจ้าได้มาด้วยวิธีอื่น เมื่อไม่เข้าใจ ไม่รู้จริง คำอธิบายก็เขวไปหมด และประชาชนทั่วไปที่ชอบฟังสิ่งที่ตนเข้าใจง่ายๆ ก็พลอยสรรเสริญยกย่องไปด้วย
     จะอย่างไรก็ตาม หลักฐานอันมั่นคง อย่างเดียว ที่มีอยู่ก็คือ **พระไตรปิฎก** ซึ่งหากจะนำมาเทียบกับคำสอน หรือความเห็นของนักปราชญ์สมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส ในเมื่อเราจะสอบสวนหาความจริงจากพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงสมควรที่จะศึกษาจากพระไตรปิฎกไปก่อน โดยใช้พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เป็นหลัก 

เล่ม ๑๒ หน้า ๒๖๖
“ธรรม ที่เราได้บรรลุนี้แล ลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้โดยยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต **อันความตรึกหยั่งไม่ถึง** ละเอียด รู้ได้แต่บัณฑิต ส่วนประชาชนนี้เป็นผู้ยินดีเพลิดเพลินใจในอาลัย เป็นผู้เห็นปฏิจจสมุปบาทที่เป็นปัจจัยแห่งธรรมเหล่านี้ได้โดยยากและเห็นได้ โดยยากซึ่งธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง สลัดอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สำรอก เป็นที่ดับ เป็นที่ออกจากตัณหา”
     ความนี้แสดงว่า การใช้ความคิดตรึกตรองตามธรรมดา(ตามเหตุผลทางวิทยาศาสตร์)จะหยั่งไม่ถึง

เล่ม ๑๒ หน้า ๑๑๕
“ดูกร สารีบุตร ผู้ใดแลพึงว่าซึ่งเราผู้รู้อยู่ตรงนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่เป็น ญาณทัสสนะ อันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวล ด้วยความตรึกที่ไตร่ตรอง ด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ดูกรสารีบุตร ผู้นั้นไม่ละวาจาเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรก”
     ความนี้ยิ่งย้ำถึงความบกพร่องของ “นักปราชญ์” สมัยใหม่ ที่พยายามจะใช้สมองที่ยังไกลกับสมองพระอรหันต์มากมาย ไปใช้ไตร่ตรองหรืออธิบายธรรมะซึ่งพระพุทธเจ้าได้มาจากญาณทัสสนะ

     นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่เป็นไปโดยหาเหตุผลไม่ได้ หรือไม่มีทางหาเหตุผลที่แน่นอนได้ ดังเช่นเรื่องที่ได้จากญาณทัสสนะที่กล่าวมาแล้ว เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมี อจิณไตย ๔ อีก

เล่ม ๒๑ หน้า ๙๓
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อจิณไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือนร้อน อจิณไตย ๔ ประการเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
- พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑
- ฌาณวิสัยของผู้ได้ฌาณ ๑
- วิบากแห่งกรรม ๑
- ความคิดเรื่องโลก ๑
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อจิณไตย ๔ ประการนี้แลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน ฯ “
     พระพุทธเจ้าทรงมีสัพพัญญุตญาณ คือ ความรู้ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีอะไรที่ต้องการรู้แล้วจะรู้ไม่ได้ ดังนั้น แม้เป็นเรื่องที่เป็นอจิณไตยสำหรับคนธรรมดา ท่านก็ทรงรู้ได้ ถ้าเราจะสงสัยว่าพระพุทธเจ้าก็คนมี ๒ มือ ๑๐ นิ้ว ท่านรู้ได้ ทำไมเราจึงรู้ไม่ได้ อันนี้แหละ คือ สงสัยในพุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

     วิบากแห่งกรรมได้แก่ เรื่องทำกรรมอย่างนี้ทำไมจึงได้ผลอย่างนั้น มีผลตอบสนองอย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้หรือ เรื่องของโลกนี้ใครสร้าง เกิดมาแต่เมื่อใด ไก่เกิดก่อนไข่หรืออย่างไร วิญญาณมาจากไหน เป็นต้น

     เมื่อคนธรรมดารู้ไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้ารู้ได้ เราก็ต้องเชื่อท่านไป แต่ปัญหามีว่า เชื่อตามพระพุทธเจ้าโดยที่หาเหตุผลให้ตนเองเข้าใจไม่ได้เช่นนี้ จะไม่ค้านกับที่สอนไว้ในกาลามาสูตร (หรือเกสปุตตสูตร) ว่าอย่าพึงยึดถือเพราะอะไรต่างๆ ๑๐ ข้อนั้นหรือ แปลว่าพระพุทธเจ้าสอนไว้ผิดหรือ ถ้าไม่ผิดก็แปลว่า สอนค้านกันเองหรือ ? อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าตรัสอย่างไรแล้วต้องเป็นอย่างนั้น ไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้

ในเล่ม ๒๐ หน้า ๒๑๓
“มาเถิด ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือ
- ตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา
- ตามถ้อยคำที่สืบ ๆ กันมา
- โดยตื่นข่าว
- โดยอ้างตำรา
- โดยเดาเอาเอง
- โดยคาดคะเน
- โดยความตรึกตามอาการ
- โดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว
- โดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อถือได้
- โดยความนับถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา
ในเล่ม ๒๐ หน้า ๒๑๗
“เมื่อ ใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่”
     นี่ก็เห็นได้ชัด บรรดาผู้นำเอาเกสปุตตสูตรมาอ้าง(มักใช้ชื่อว่ากาลามาสูตร) เมื่ออ้างเสร็จแล้วก็สรุปว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าให้ตรึกตรองด้วยเหตุผลเสีย ก่อน จึงเชื่อ ซึ่งเราเห็นได้ว่าเป็นการนำมาอ้างผิดๆ กล่าวตู่พระพุทธเจ้า ความจริงพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้บอกให้ใช้เหตุผล ท่านบอกให้ดูว่าธรรมเหล่าใดเป็น อกุศล เป็นโทษ ก็อย่ารับไปปฏิบัติ ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล เป็นประโยชน์จึงค่อยรับไปปฏิบัติ ดังนี้ ต่างหาก

     อันที่จริงแล้ว พระธรรมมิใช่ว่าจะเข้าใจด้วยการใช้สมองตรึกตรองอย่างที่นักปราชญ์สมัยวิทยาศาสตร์ชอบทำกัน

เล่ม ๑๔ หน้า ๒๒๙
สมณุทเทสอจิรวตะ ทูลพระพุทธเจ้าว่า ราชกุมารสัยเสนคัดค้านข้อธรรมที่ได้แสดงให้ฟัง พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ดูกรอัคคิเวสสนะ พระราชกุมารจะพึงได้ความข้อนั้นในภาษิตของเธอนี้แต่ที่ไหน ข้อที่ความข้อนั้น เขารู้ เขาเห็น เขาบรรลุ เขาทำให้แจ้งกันได้ด้วย เนกขัมมะ แต่พระราชกุมารชัยเสนะยังอยู่ท่ามกลางกาม ยังบริโภคกาม ถูกกามวิตกกิน ถูกความเร่าร้อนเพราะกามเผา ยังขวนขวายในการแสวงหากาม จักทรงรู้ หรือจักทรงเห็น หรือจักทรงทำให้แจ้งความข้อนั้นได้ นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้”
     นี่แสดงว่าถ้ายังบริโภคกามจะตรึกตรองอย่างไรธรรมะบางข้อก็ แจ่มแจ้งไม่ได้

เล่ม ๑๙ หน้า ๔๕๐
“เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ”
เล่ม ๒๓ หน้า ๓๑๐
ทรง ตอบท่านพระปุณณิยะว่า เมื่อรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ต้องปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมด้วย จึงจะเข้าใจแจ่มแจ้ง อันนี้เป็นข้อบกพร่องของนักศึกษาธรรม คือ เอาแต่อ่านจนรู้อรรถรู้ธรรมว่าพูดว่าอย่างไร แต่ไม่เข้าใจแจ่มแจ้งเพราะไม่ได้ปฏิบัติ จึงมักจะเกิดโต้เถียงกันในความเห็น
     คำว่า “แจ่มแจ้ง” นั้น ไม่ใช่อ่านหนังสือแล้วรู้ใจความ หรือเข้าใจเหตุผลธรรมดา

เล่ม ๒๗ หน้า ๙๒ (ชาดก)
“บุคคลเหล่าใดยังไม่รู้ธรรมทั้งหลาย ด้วยญาณทั้งปวง บุคคลเหล่านั้นแลย่อมสงสัยในธรรมทั้งปวง”
เล่ม ๒๙ หน้า ๒๘๔ เป็นการอธิบายพุทธดำรัส
“บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่ง ญาณ”
     อธิบายคำ “พึงศึกษา” ว่ามี ๓ ประการ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา(ทำฌาณจนถึงฌาณ ๔) และปัญญาสิกขา(ให้เห็นความเกิดและความดับเป็นอริยะชำแรกกิเลส)

เล่ม ๑๖ หน้า ๑๗
“พระอริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อต่อผู้อื่นเลย”
เล่ม ๑๖ หน้า ๑๒๗
“เว้น จากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ และจากการทนต่อความเพ่งด้วยทิฐิ ท่านมุสิละมีญาณเฉพาะตัวท่านว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ ดังนี้หรือ”
*** ปัญหาที่ชอบนำมาถกเถียงกันในระหว่างพุทธศาสนิกชน ปัญหาหนึ่ง ก็คือ สวรรค์ นรกมีจริงหรือ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับว่า เทวดา พรหมมีจริงหรือ ฝ่ายหนึ่งว่า สวรรค์ นรก มีจริง อีกฝ่ายหนึ่งว่าไม่มี ท่านพูดเปรียบเทียบต่างหาก สวรรค์ก็อยู่ในอก นรกก็อยู่ในใจนี่แหละ อีกฝ่ายหนึ่งปรารภว่าทำไมพระพุทธศาสนาจึงต้องอ้างเทวดา ฯลฯ


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


พระพุทธเจ้าตรัสถึงสวรรค์ นรก เทวดา พรหม ไว้ในที่นับไม่ถ้วนในพระไตรปิฎก

     ในกำลัง ๑๐ ของพระตถาคต แสดงถึงสวรรค์ – นรก ไว้อย่างชัดเจน



กำลังของพระตถาคต ๑๐ 

     (๑) ย่อมรู้ฐานะในโลกนี้โดยเป็นฐานะ และรู้เหตุมิใช่ฐานะโดยเป็นเหตุมิใช่ฐานะตามความเป็นจริง

     หมายเหตุ : เช่น รู้ว่าจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๒ องค์พร้อมกันในโลกธาตุเดียวกันนั้น มิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ เรื่องนี้มิใช่จะใช้เหตุผลพิจารณากันตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ว่าทำไมจึงเป็น ไปไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าทรงรู้ได้ด้วยญาณทัสสนะนี้

     (๒) ย่อมรู้วิบากของกรรมสมาทานที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริง

     หมายเหตุ : เช่น รู้ว่าทำกรรมอย่างนี้ จะได้รับผลอย่างนั้น ทำทานกับพระอรหันต์จะได้ผลมากกว่าทำกับคนธรรมดาหลายร้อยล้านเท่า ทั้งๆ ที่ใช้ชองเท่ากัน เจตนาเท่ากัน ท่านทรงทราบตามความเป็นจริงเช่นนี้ ไม่มีเหตุผลอธิบาย สิ่งเช่นนี้คนเราสมัยนี้ไม่มีทางรู้ ไม่มีทางพิสูจน์

     (๓) ย่อมรู้ชัดซึ่งปฏิปทา อันจะยังสัตว์ให้ไปสู่ภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง

     หมายเหตุ : คือ รู้ว่าทำกรรมอย่างนี้ตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน

     (๔) ย่อมรู้ชัดซึ่งโลกมีธาตุมิใช่อย่างเดียว และมีธาตุต่างๆ ตามความเป็นจริง

     (๕) ย่อมรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์มีอธิมุติต่าง ๆ กัน

     (๖) ย่อมรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์และบุคคลทั้งหลายอื่นมีอินทรีย์หย่อนและยิ่งตามความเป็นจริง

     หมายเหตุ : เช่น ทรงทราบว่าบุคคลผู้นี้ได้ฟังเทศน์ครั้งหนึ่งแล้วจะได้เป็นอริยบุคคล ชั้นนั้นชั้นนี้ เป็นต้น

     (๗) ย่อมรู้ชัดซึ่งความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว และความออกแห่งฌาณวิโมกข์สมาธิ และสมาบัติทั้งหลายตามความเป็นจริง

     (๘) ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง…ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้น*จุติ*จากภพนั้นแล้ว ได้*ไปเกิด*ในภพโน้น แม้ในภพโน้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น…ตถาคตย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอัน มาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

     หมายเหตุ : นี่เป็นตัวอย่างการพูดเรื่องชาติก่อนของพระไตรปิฎก ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจน ไม่มีที่สงสัย แต่ “นักปราชญ์” สมัยใหม่สอนว่าชาติก่อนหมายถึงตอนที่เป็นเด็ก หรืออดีตที่ผ่านมาแล้วในชาตินี้นั่นเอง แสดงให้เห็นชัดเจนว่า นักปราชญ์ดังกล่าวไม่เคยอ่าน ไม่เคยศึกษาจากพระไตรปิฎกเลย พอได้ยินคำว่า “ชาติก่อน” เข้าก็สันนิษฐานเป็นคุ้งเป็นแคว นักปราชญ์ชนิดนี้ต้องระวังไว้ให้มาก

     (๙) ตถาคตย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปปัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ***ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์*** ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิเบื้องหน้าแต่**ตายไป** เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เบื้องหน้าแต่**ตายไป** เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้

     หมายเหตุ : นักปราชญ์ ที่อธิบายว่า สวรรค์นรกไม่มี สวรรค์ก็อยู่ในอก นรกก็อยู่ในใจนั้น ก็เห็นได้ว่าไม่ได้อ่านพระไตรปิฎกอีกนั่นแหละ เพราะท่านตรัสไว้ชัดเจนว่า สวรรค์นรกนั้นตายไปแล้วจึงไป ฉะนั้นผู้อธิบายว่าสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ก็ย่อมเป็นผู้กล่าวค้านคำของพระพุทธเจ้า ผู้กล่าวค้านคำของพระพุทธเจ้านั้น เคยมีตัวอย่างทรงสั่งให้ทำนาสนะ คือห้ามไม่ให้ไปกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเขา หรืออีกนัยหนึ่ง พ้นไปจากการเป็นพุทธศาสนิกชนนั่นเอง 

     ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์ทรงเห็นด้วย ทิพยจักษุที่เหนือกว่าตาสามัญของมนุษย์ ข้อนี้ดูเหมือน “นักปราชญ์” จะไม่นำพา จะเอาตาสามัญของมนุษย์เป็นใหญ่อยู่นั่นเอง คือ ถ้ามองไม่เห็นก็บอกว่าสิ่งนั้นไม่มี 

     (๑๐) ตถาคตกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
ในเล่ม ๓๑ หน้า ๘๓ กล่าวถึงภูมิ ๔ คือ
- กามาวจรภูมิ หมายถึง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันท่องเที่ยว คือ นับเนื่องในโอกาสนี้ ข้างล่างตลอดไปถึงอเวจีนรกเป็นที่สุด ข้างบนขึ้นไปจนถึงเทวดา ชาวปรนิมมิตวสวีสดีเป็นที่สุด

- รูปาวจรภูมิธรรม คือ จิตและเจตสิกของบุคคลผู้เข้าสมาบัติ ของบุคคลผู้เกิดในพรหมโลก หรือของท่านผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอันท่อดงเที่ยวคือ นับเนื่องในโอกาสนี้ ข้างล่างตั้งแต่พรหมโลกขึ้นไป จนถึงเทวดาชั้นอกนิษฐ์ข้างบนเป็นที่สุด

- โลกุตตรภูมิ มรรค ผล และนิพพานธาตุอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง อันเป็นโลกุตตระ



เล่ม ๒ หน้า ๔๒๐ กล่าวถึงเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้

เล่ม ๔ หน้า ๙ กล่าวถึงท้าวมหาราชทั้ง ๔

หน้า ๑๑ กล่าวถึงท้าวสหัมบดีพรหม

หน้า ๒๑ กล่าวถึงสวรรค์ชั้นต่างๆ 

หน้า ๔๗ กล่าวถึงท้าวสักกะจอมเทพ

เล่ม ๑๒ หน้า ๔๕๙ อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา

เล่ม ๑๔ หน้า ๑๙๒ สวรรค์ชั้นต่างๆ และพรหมชั้นต่างๆ 


เล่ม ๗ หน้า ๑๖๙ นรกอเวจีมีประตู ๔ ประตู

เล่ม ๑๕ หน้า ๒๑๐ กล่าวถึงปทุมนรก และอุปมาความนานของระยะเวลาที่อยู่ในนรกต่างๆ 

เล่ม ๑๙ หน้า ๕๐๗ โลกันตนรกซึ่งมืดมิดมองอะไรไม่เห็น

     ตัวอย่างเช่นนี้มีนับไม่ถ้วน

     
ความสงสัยเรื่องเทวดานี้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล ไม่ใช่เพียงจะมีในสมัยนี้



***อย่างไรก็ดี อาจจะมีคนสงสัยว่า แล้วเรื่องผีล่ะ มีจริงหรือ ?

     เรื่องผีหรือปีศาจนี้ พระไตรปิฎกไม่ให้ความกระจ่างว่าเป็นอะไรกันแน่ อาจกินความรวมไปถึงเทวดาด้วยก็เป็นได้ เพราะพระอินทร์เองก็มีชื่อว่า จอมภูต ตามเรื่องที่ปรากฏนั้น ไม่ปรากฏว่ามีผีออกมาแสดงบทบาทจริงจังอะไร มีแต่การกล่าวถึงบ้างเท่านั้น

ล่ม ๑ หน้า ๓๗๘ พระวินัยบัญญัติว่า ภิกษุหมอผีปลงชีวิตยักษ์เป็นอาบัติถุลลัจจัย ท่านกล่าวไว้แค่นี้ ไม่ทราบว่ายักษ์กับผีอันเดียวกันหรือไม่

เล่ม ๑ หน้า ๓๘๑ เล่าเรื่องภิกษุถูกผีเข้า แล้วถูกเพื่อนประหาร ไม่ได้อธิบายประกอบว่าผีคืออะไร

ล่ม ๔ หน้า ๒๘๗ “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุทั้งหลายในศาสนานี้ จำพรรษาแล้วถูกพวกปิศาจรบกวน มันเข้าสิงบ้าง พาเอาไปบ้าง พวกเธอพึงหลีกไปด้วยสำคัญว่านั่นแลอันตราย ไม่ต้องอาบัติแต่พรรษาขาด”
เล่ม ๕ หน้า ๔๒ “เราอนุญาตเนื้อดิบ เลือดสดในพระอาพาธเกิดแต่ผีเข้า” 
(คือปรากฏเรื่องมาก่อนว่าผีเข้าแล้ว ภิกษุนั้นเดินไปกินเนื้อดิบ เลือดสดเข้า ก็หายเหมือนปลิดทิ้ง)

เล่ม ๔ หน้า ๒๑๕ ทรงอนุญาตให้สวดปาฏิโมกข์ย่อได้ในเมื่อภิกษุถูกผีเข้า


     นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายแห่ง แต่ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือ ไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร เช่น เล่ม ๒๗ หน้า ๔๓๖ เป็นชาดกกล่าวว่า “ยักษ์ก็ดี ปีศาจก็ดี หรือเปรตก็ดี โกรธเคืองแล้วย่อมเข้าสิงมนุษย์ได้ แต่ไม่สามารถเข้าสิงมัจจุราชได้”

     พิจารณาดูแล้ว ผีหรือปีศาจก็คงจะเป็นอะไรที่มองไม่เห็นตัวอย่างหนึ่งที่มีความชำนาญเป็น พิเศษในการเข้าสิง แต่ในเมื่อไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องในการปฏิบัติธรรม ก็ย่อมไม่มีความสำคัญ หากมีใครถามว่าผีมีจริงหรือ อย่างดีที่สุดคงจะตอบได้แต่เพียงว่า ผีมี เพราะเห็นมีกล่าวถึงไว้ในพระไตรปิฎก